เรื่องเล่ากะเหรี่ยง/zLyHpAifgzksfC6f];f5jif/

ค้ำโพธิ์-ย่องสาว เรื่องเล่าของชาว 'สะมะแก'

ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย 'ป่า' ยังคงความหมายมากกว่าผืนดินที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากเท่านั้น ยิ่งเฉพาะกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล ป่าเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เป็นตั้งแต่ที่พักพิง แหล่งเรียนรู้ แหล่งอาหาร แหล่งยารักษาโรค แหล่งสร้างผลิตผล เพื่อการยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก หรือเลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงเป็นพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ดังความเชื่อของบางชนเผ่าที่จะนำรกเด็กเกิดใหม่ไปฝังไว้ใต้ต้นไม้ใหญโดยคาด หวังให้เด็กเติบโตแข็งแรงเหมือนต้นไม้นั้น  เมื่อป่าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ การแสดงออกถึงความเคารพในสิ่งที่เป็นตัวกำหนดความอยู่รอดทั้งสำหรับชีวิตของ ปัจเจกบุคคลและชุมชนจึงเกิดขึ้นตามมา รวมไปถึงการปลูกฝังแนวความคิดดังกล่าวสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งมีรูปแบบวิธีการแสดงออกแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของแต่ละชุมชน

พยอม กลิ่นจันทร์ กรรมการป่าชุมชนบ้านสะมะแก ต.นาสวน จ.กาญจนบุรี เล่าว่า พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนมา ช้านาน รวมทั้งมีคนไทยเชื้อสายอีสานอพยพหนีความแห้งแล้งเข้ามาในพื้นที่ ทำให้พิธีกรรมการอนุรักษ์ป่ามีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามพื้นฐานความเชื่อของ แต่ละกลุ่มคน

ในกลุ่มคนไทยเชื้อสายอีสาน 'พิธีสู่ขวัญต้นไม้' คือ อุบายหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างจิตสำนึกรักษ์ผืนป่า เกิดจากพื้นฐานความคิดที่ว่าสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือต้นไม้ ต่างก็มี 'ขวัญ' ซึ่งกำหนดความเป็นไปของแต่ละชีวิต หากมีขวัญดีอยู่กับตัวชีวิตก็จะเป็นไปโดยราบรื่น การทำพิธีดังกล่าวจึงมุ่งเชิญขวัญที่ล่องลอยอยู่ในที่ต่างๆ ให้กลับมาอยู่กับต้นไม้นั้น พร้อมทั้งเชิญเทวาสุรารักษ์ทั้งหลายมาช่วยกันปกปักรักษาเพื่อให้ต้นไม้เติบ โตแข็งแรง  เช่นเดียวกับการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญบุคคล สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ พานบายศรี ทำจากใบตองม้วนพับให้เป็นรูปกรวย ประดับยอดด้วยดอกไม้ จัดเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ (มากที่สุด 9 ชั้น) ประดับบนพาน ตรงกลางวางของจำเป็นสำหรับพิธี คือ ไข่ต้ม ข้าวสุก ดอกไม้  เมื่อผู้ร่วมพิธีทั้งหมดนั่งลงใต้ต้นไม้ใหญ่ที่จะทำการสู่ขวัญ 'พราหมณ์' หรือ 'หมอขวัญ' จะเป็นผู้สาธยายบทสวดภาษาบาลีและภาษาอีสานเชิญปวงเทพยดามาปกปักรักษาต้นไม้ ของพวกเขา ทุกครั้งที่บทสวดดำเนินไปถึงท่อนที่พราหมณ์ร้องขึ้นว่า "มาเย้อขวัญเอ๊ย..." ผู้ร่วมพิธีแต่ละคนจะส่งเสียงเรียกให้ 'ขวัญ' ของต้นไม้ต้นนั้นเข้ามาอยู่กับต้น รวมไปถึงการอวยพรเพื่อให้ต้นไม้นั้นแข็งแรงและมีอายุยืนนาน

หลังจากกระบวนการสวดให้พรต้นไม้จบลง เครื่องประกอบพิธีที่เตรียมไว้ในพานรวมทั้งตัวบายศรี จะถูกวางไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนไข่ต้มที่เตรียมมาจะถูกปอกเปลือกออกเพื่อเสี่ยงทาย หากปอกไข่ได้สวยงามไม่แหว่งวิ่นหมายความว่าต้นไม้นั้นจะเติบโตไปได้ด้วยดี แต่ถ้าปอกไข่ออกมาแล้วปรากฏว่าไข่มีรอยแหว่งถือว่าไม่ดี ต้องกลับมาทำพิธีซ้ำอีกครั้งในวันหลัง  คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมีวิธีแสดงความเคารพป่า และต้นไม้ด้วยพิธีกรรมที่เรียกว่า 'พิธีถวายไม้ค้ำต้นโพธิ์' จัดขึ้นในวันพระวันใดวันหนึ่งในเดือน 5 โดยชาวบ้านจะไปตัดไม้รวกคนละลำนำไปรวมกันใต้ต้นโพธิ์ หรือต้นไทรใหญ่ นำลำไม้รวกมากำรวมกันไว้พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานให้ต้นไม้แข็งแรง

ผู้ร่วมพิธีล้อมวงใต้ต้นไม้จะได้รับแจกธูปเทียนและกำดอกไม้ที่จัดไว้ในกรวย ใบไม้เล็กๆ ผู้นำพิธีว่าบทสวดภาษากะเหรี่ยงพลางประพรมน้ำส้มป่อยให้กับต้นไม้ หลังจากจบบทสวดก็จะกรวดน้ำให้กับต้นไม้ ช่วงนี้ทุกคนที่ร่วมพิธีจะนั่งลง และแตะตัว หรือจับชายเสื้อกันเป็นทอดตั้งแต่ผู้นำพิธีไปจนถึงคนที่นั่งอยู่นอกสุด เหมือนกับว่าทุกคนต่างมีส่วนได้กรวดน้ำให้ต้นไม้ร่วมกัน จากนั้นทุกคนจะนำไม้รวกที่เตรียมมาไปค้ำตามกิ่งก้านของต้นโพธิ์ นำกำดอกไม้และธูปเทียนวางไว้โคนต้นไม้ หรือตามกิ่งก้านเป็นอันเสร็จพิธี เชื่อกันว่าการถวายไม้ค้ำต้นโพธิ์เป็นเสมือนการต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ ยั่งยืนสืบไป

นอกจากพิธีถวายไม้ค้ำต้นโพธิ์ ในช่วงเดือน 5 ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงยังมีพิธี 'ไหว้สะพาน' เป็นกิจกรรมที่ไม่มีพิธีรีตรองมากนัก ชาวบ้านจะร่วมกันทำความสะอาดสะพาน รวมทั้งซ่อมแซมจุดที่ชำรุดเสียหาย ปัจจุบันพิธีไหว้สะพานพบเห็นได้น้อยลงหลังจากมีสะพานคอนกรีตใช้  การแต่งงานเป็นอีกช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต การแต่งงานของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงนั้น หลังจากที่เด็กเติบโตเป็นหนุ่มสาวอายุประมาณ 16 ปี เป็นเวลาหมายตาเพศตรงข้าม อาจเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกันหรือต่างหมู่บ้านที่มีโอกาสรู้จักกันตามงานบุญ หนุ่มเจ้าบ้านจะพาเพื่อนต่างถิ่นไปเที่ยวบ้านสาวโดยไม่มีการหึงหวงแม้แต่สาว ที่หมายตาไว้ เพราะถือเป็นธรรมเนียมว่าผู้เหย้าต้องให้การต้อนรับผู้มาเยือน

หลังจากที่หนุ่มสาวได้ทำความรู้จักกันระยะหนึ่ง หากทั้งสองฝ่ายเกิดความพอใจกันถึงขั้นจะร่วมชีวิตกันต่อไป ฝ่ายชายก็จะบอกบิดามารดาให้จัดขบวนมาสู่ขอหญิงสาวและแต่งงานกันต่อไป

"วันแต่งขบวนเจ้าบ่าวจะแห่เจ้าบ่าวออกจากบ้านไปบ้านเจ้าสาว พอถึงแล้วฝ่ายเจ้าสาวจะเชิญฝ่ายชายขึ้นบ้าน บนนั้นก็มีญาติผู้ใหญ่สองฝ่ายรออยู่แล้ว บ่าวสาวจะป้อนอาหารกัน มีข้าว มีกับ มีขนม เจ้าบ่าวป้อนให้เจ้าสาว 3 คำ เจ้าสาวป้อนคืนให้เจ้าบ่าว 3 คำ ค่อยเป็นทีของเพื่อนเจ้าบ่าวป้อนให้เจ้าสาว 3 คำ เพื่อนเจ้าสาวป้อนเจ้าบ่าว 3 คำ อาหารที่เหลือจะเอาไปโปรยทั่วเรือน จะได้เจริญๆ" กรรมการป่าชุมชนคนเดิม บอกเล่าอย่างปีติ

หากการทำความรู้จักกันตามปกติยังไม่เข้าใจกันได้ถ่องแท้ถึงขั้นปลงใจแต่งงาน ชาวกะเหรี่ยงยังมีธรรมเนียมเฉพาะแบบ นั่นคือ 'การย่องสาว'  ธรรมเนียมนี้เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวมีเวลาส่วนตัวพูดคุยทำความรู้จักกันมาก ขึ้น แต่เนื่องจากเวลากลางวันต้องทำมาหากินจึงต้องอาศัยช่วงเวลายามค่ำคืนเพื่อ ศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

เริ่มด้วยฝ่ายชายหมายฤกษ์เวลาค่ำถึงดึกไปที่บ้านสาว ค่อยๆ ปีนขึ้นไปชักบันไดลงจากเรือนสาวเจ้าเพื่อปีนขึ้นเรือนไป ช่วงนี้ต้องพบกับด่านแรก คือ พ่อแม่ของฝ่ายหญิงที่อาจจะยังนั่งคุยกัน หรือทำธุระอื่นยังไม่เข้านอน

"ถึงตอนนี้ ถ้าพ่อแม่สาวรู้ว่าหนุ่มที่ดอดมาหาลูกสาวเป็นคนดี ถูกใจก็จะรีบชวนกันเข้านอน เปิดทางให้เจ้าหนุ่มย่องขึ้นเรือนได้สะดวก แต่หากเป็นคนไม่ดีหรือไม่ถูกใจก็จะแกล้งนั่งคุยกันอยู่อย่างนั้นแหละ เจ้าหนุ่มก็รอเก้อไป" กรรมการพยอมเล่าอย่างอารมณ์ดี และบอกด้วยว่าขั้นต่อไปเจ้าหนุ่มจะบุกถึงห้องนอน

ชายหนุ่มต้องขอเข้าไปจุดตะเกียงคุยกับสาว หากสาวรู้สึกวางใจฝ่ายชายได้สนิทแล้วก็อาจดับตะเกียงเสียก็ได้

แม้ว่าจะเข้าหากันถึงในห้องหับ แต่การย่องสาวก็ไม่ได้หมายความว่าจะจบลงด้วยการที่หนุ่มสาวคู่นั้นต้องแต่ง งานกันเสมอไป หากภายหลังมีเหตุให้ทั้งสองฝ่ายไม่พอใจซึ่งกันและกัน เช่น พบว่าเจ้าหนุ่มเปลี่ยนนิสัยกลายเป็นคนไม่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องแต่งงานโดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหาย หรือ 'ผิดผี' แต่อย่างใด

ตรงกันข้ามหากฝ่ายสาวพอใจหนุ่มที่ย่องเข้าหา กระบวนการผูกมัดก็จะตามมา สาวเจ้าจะฉวยจังหวะเข้าไปลงกลอนประตูแน่นหนา ก่อนจะหย่อนลูกกุญแจลงร่องกระดานเรือนไป พอถึงรุ่งเช้าพ่อแม่ตื่นมาเห็นเข้าเจ้าหนุ่มผู้นั้นก็จะต้องแต่งงานด้วย เพราะเหตุว่ามีคนมาเห็นอยู่ด้วยกันจนเช้า ถือว่า 'ผิดผี' ต้องแต่งงานสถานเดียว  แม้ย่องสาวจะเป็นช่องทางเลือกคู่ของหนุ่มสาวกะเหรี่ยง แต่ทุกวันนี้วัฒนธรรมดังกล่าวลดบทบาทลงไปมากเช่นเดียวกับวิถีชีวิตอื่นๆ ยิ่งบ้านสมัยใหม่ปรับเปลี่ยนจากบ้านไม้ใต้ถุนสูงมาเป็นบ้านตึกติดดินแบบคน เมือง การย่องสาวจึงจางหน้าที่ไป

เหลือไว้เพียงคำเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังรำลึกภาพอดีตเมื่อครั้งตนได้ เมียด้วยการย่องสาว และร่วมค้ำโพธิ์สืบอายุไม้ศักดิ์สิทธิ์ด้วยกัน

ที่มา : http://culturelib.in.th/articles/946

เอกสารเพิ่มเติม : ดาวน์โหลด (4 kb)

เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2553 | อ่าน 6062
เขียนโดย เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ KARENTHAI.COM