เรื่องเล่ากะเหรี่ยง/zLyHpAifgzksfC6f];f5jif/

บุญข้าวใหม่

บุญข้าวใหม่

ปีนี้ได้ข้าวกันเพียงเล็กน้อย
     การปลูกข้าวของพวกเราเป็นข้าวไร่ปลูกในบริเวณพื้นที่ลาดชันขุดหลุมหยอดเมล็ดข้าว กลบแล้วปล่อยให้ธรรมชาติดูแลคอยดายหญ้า กำจัดวัชพืชเป็นครั้งคราว หากฟ้าฝนดีเอื้ออำนวยเป็นใจผลผลิตที่ได้ก็ดี แต่หากฝนตกน้อยไปหรือทิ้งช่วงผิดระยะผลผลิตก็ได้น้อยลงไป
     ปีนี้ฟ้าฝนดี อุดมสมบูรณ์แต่กลับได้ข้าวน้อย เพราะยังมีหนูระบาดอยู่เป็นปีที่ 2
     ปีที่แล้วหนูระบาดหนักมากไม่ได้ผลผลิตเลย ปีนี้หนูน้อยลงแต่ยังไม่หมด ได้ผลผลิตกันเพียงเล็กน้อย
     คนเฒ่าคนแก่บอกลูกหลานว่าสาเหตุที่หนูมากเป็นเพราะไม้ผากซึ่งเป็นไม้ไผ่ชนิดหนึ่งออกดอกออกผลซึ่งเรียกกันว่า "ขุยไผ่" แล้วแห้งตาย หนูชอบกินขุยไผ่มาก เมื่อมีขุยไผ่ซึ่งเป็นอาหารมาก หนูก็เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ต่อมาต้นไผ่ผากตาย ขุยไผ่น้อยลง หนูก็อพยพเข้ามาหากินตามไร่และบ้านเรือน
     ไม้ไผ่ส่วนมากจะออกดอก และตายเป็นกอ ๆ แต่ละกอออกดอกและตายไม่พร้อมกัน ไม่ผากเป็นไม้ไผ่ที่แปลกกว่าชนิดอื่น ๆ ที่ออกดอกและตายพร้อมกันหมดทั้งป่า ไม่ว่าจะเป็นในเขตไทย พม่า กัมพูชา ลาว แม้ กระทั่งตอนใต้ของจีน
     ไม่มีใครรู้ว่าทำไมไม้ผากจึงต้องมาออกดอกและตายพร้อมกัน
     ประมาณ 50 ปี ไม้ผากจึงออกดอกและตายหนึ่งครั้ง ตอนนั้นหนูจะระบาดหนักอยู่ 2 ปี แล้วก็กลับสู่สภาพเดิม
     แม้จะได้ข้าวเพียงเล็กน้อย หมู่บ้านของเราก็ทำพิธีทำบุญข้าวใหม่เช่นทุกปี การทำบุญข้าวใหม่นี้เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "ชุพลี่บิ๊โย่มี่" (ชุ = ถวาย, พลี่ = ใหญ่ , บิ๊โย่ = แม่โพสพ และมี่ = ข้าว) โดยจะทำพิธีในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 บางทีอาจเลื่อนเป็นเดือน 2 หรือ เดือน 4 แล้วแต่ว่าจะเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเมื่อใด ตามปกติแม้เก็บเกี่ยวเสร็จก่อนก็มักรอทำพิธีในเดือน 3
     การทำบุญข้าวใหม่เป็นการขอบคุณธรรมชาติที่ให้กำหนิดและเลี้ยงดูให้อาหารโดยเฉพาะข้าว ซึ่งชาว
     กะเหรี่ยงเชื่อกันว่า แม่โพสพเป็นผู้ประทานข้าวให้ด้วยความเมตตา เพื่อไม่ให้ชาวบ้านอดอยาก
     นอกจากนี้การทำบุญข้าวใหม่ยังเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลทั้งหลาย ทั้งปวงให้แก่สัตว์และพืชที่ต้องตายหรือถูกทำร้ายเพราะการปลูกข้าวไร่ โดยเฉพาะการเผาไร่ เพื่อเตรียมที่เพาะปลูก เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวได้มาแล้ว ก็ทำบุญอุทิศให้ ขอขมาลาโทษเพื่อไม่ให้เป็นบาปเป็นเวรเป็นกรรมกันสืบไป
     เช้าวันงาน ทุกคนมาพร้อมกันที่ศาลาแม่โพสพพร้อมข้าวปลาอาหารและขนม ซึ่งนำไปวางไว้กลางศาลาแม่โพสพ บางคนที่พอได้ข้าวจะนำข้าวเปลือกข้าวเจ้าและข้าวเปลือกข้าวเหนียวมาร่วมทำบุญโดยวางไว้ริมศาลา คนเฒ่าคนแก่นั่งบนศาลาแม่โพสพรอบ ๆ อาหารคนอื่น ๆ นั่งข้างล่างบริเวณลานหน้าศาลาแม่โพสพ
     พิธีเริ่มจากผู้นำหมู่บ้านซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่อาวุโสสูงสุดกรวดน้ำ บอกกล่าวแก่เทวดาฟ้าดิน หมู่สัตว์ พืช และธรรมชาติ ให้รับรู้ถึงจิตกตัญญูกตเวที การขอบคุณและขอขมาลาโทษที่ล่วงเกินขอเชิญมารับส่วนบุญ
     กุศลเหล่านี้และรับอาหารคาว - หวาน
     จากนั้นทุกคนในหมู่บ้านจะร่วมกันรับประทานอาหาร เป็นเสร็จพิธี
     ข้าวเปลือกที่มาร่วมพิธีจะขายในราคาถูกมาก ให้แก่ครอบครัวที่อดอยาก ได้ข้าวน้อยที่สุด เงินที่ได้จากการขายข้าวเปลือกและการทำบุญจะใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรม สำหรับปีนี้ตกลงกันว่า ให้นำเข้ากองทุนธนาคารของหมู่บ้าน
     ปีนี้แม้ได้ข้าวเพียงเล็กน้อย กินไม่กี่เดือนก็คงหมด แต่ข้าวเปลือกที่นำมาร่วมทำบุญก็มีจำนวนมากไม่แพ้ปีที่ข้าวอุดมสมบูรณ์ ความอดอยากขัดสนดูไม่มีผลต่อการทำบุญของชาวบ้าน
     นึกถึงคำพูดของคนในเมืองบางคนที่พูดว่า "ลำพังจะกินก็ยังไม่มี และจะเอาอะไรไปทำบุญ" แต่กับพวกเราในป่าแล้ว ชาวกะเหรี่ยงกลับคิดว่า "เพราะไม่มีกินถึงต้องรีบเร่งทำบุญ เพื่อจะได้มีกินในโอกาสต่อไป หากไม่มีกินแล้วยังไม่เร่งทำบุญอีก ก็คงไม่มีกินตลอด"
     และนึกแปลกใจที่คนในเมืองยิ่งอดอยาก ยิ่งดิ้นรน ยิ่งเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น แต่กับพวกเรายิ่งอดอยาก ชาวกะเหรี่ยงกลับยิ่งสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่มีครอบครัวใดอดอยาก ในขณะที่อีกครอบครัวมีกินอุดมสมบูรณ์จะต้องแบ่งปันกัน จนอดอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมู่บ้าน
     ด้วยชีวิตที่ดำเนินตามธรรมชาติในป่าเขามานับพันปี ชีวิตของกะเหรี่ยงจึงกลมกลืนแนบแน่นกับธรรมชาติ ภัยธรรมชาติคือปรากฏการณ์ปกติที่หมุนเวียนกันตามโอกาสกาละต่าง ๆ ไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ ไม่ใช่สิ่งทีน่าสะพรึงกลัวไม่มีการโกรธเพ่งโทษธรรมชาติไม่ใช่การกลั่นแกล้งหรือลงทัณฑ์จากธรรมชาติ ชาวกะเหรี่ยงมอง
     ปรากฏการณ์นี้ด้วยความรู้เท่าทันว่าเป็นธรรมดา และพร้อมที่จะเผชิญกับภัยธรรมชาตินั้นอย่างมั่นคง
     ชาวกะเหรี่ยงทราบดีว่า ในปีหน้าข้าวไร่จะได้มากเพิ่มขึ้นกว่าปีนี้ ปัญหาเรื่องหนูจะลดลงจนหมดไปปีหน้าจะได้ข้าวอย่างเพียงพอ ส่วนปีนี้ต้องอดข้าวตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป แต่พวกเราก็ไม่เดือดร้อนนัก เพราะคนเฒ่าคนแก่พูดไว้เสมอว่า ธรรมชาติมีสองด้าน เราจะต้องพบทั้งสองด้าน คือ มีสุข และมีทุกข์ มีอิ่มและมีอด มีได้ก็มีเสีย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่เสมอ ไม่มีอะไรแน่นอน ขอให้ทำใจยอมรับกับความเป็นจริง อย่าไปฝืน ธรรมชาติ
     การทำบุญข้าวใหม่เป็นการน้อมลงเคารพต่อธรรมชาติ ทำบุญให้ธรรมชาติ ด้วยสำนึกกตัญญูกตเวที อย่างสัมพันธ์เข้าใจและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ
     คนที่เขากินข้าวอยู่ในเมืองเขาคิดเหมือนพวกเราชาวกะเหรี่ยงไหมนะ ?

ที่มา : https://www.karencenter.com/showdet-know.php?type=a2&id=15

เอกสารเพิ่มเติม : ดาวน์โหลด (4 kb)

เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2553 | อ่าน 2644
เขียนโดย เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ KARENTHAI.COM