เรื่องเล่ากะเหรี่ยง/zLyHpAifgzksfC6f];f5jif/

กะเหรี่ยง-กรมป่าไม้ ใครบุกรุกใคร

กะเหรี่ยง-กรมป่าไม้ ใครบุกรุกใคร

รัฐบาล (กรมป่าไม้) ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 ในมาตรา 19 ว่า

     เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัยเพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า ก็กระทำได้โดยประกาศพระราชกฤษฎีกาและให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า"

     ที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่านั้น ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง และอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ในมาตรา 6 ว่า

     เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรกำหนดบริเวณที่ดินแห่งใดที่มีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและรื่นรมย์ของประชาชน ก็ให้มีอำนาจกระทำได้โดยประกาศพระราชกฤษฎีกา และให้มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย บริเวณที่กำหนดนี้เรียกว่า "อุทยานแห่งชาติ"

     ที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาตินี้ ต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

     เมื่อประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติแล้ว ทางกรมป่าไม้ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงก็ทำการขับไล่กะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่ในเขตดังกล่าวออกให้พ้นเขต โดยอ้างกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่นั้น

     ทำให้กะเหรี่ยงซึ่งส่วนมากอยู่ทำกินในแผ่นดินนั้นมาเป็นร้อยปีเดือดร้อน บางกลุ่มที่มีจำนวนน้อยและไม่ประสีประสาต่อกฎหมายของรัฐ จำต้องอพยพออกจากแผ่นดินที่พวกตนทำกินมาเป็นร้อยปี แต่บางกลุ่มที่มีจำนวนมากพอและมีการพัฒนามีความรู้อยู่บ้าง เช่น มีหน่วยพัฒนาของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาหน่วยของตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งอยู่กรมป่าไม้ยังเกรงใจไม่กล้าขับไล่โดยตรง

     เพราะการที่จะประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาตินั้นต้องมีการสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด ในพื้นที่ที่มีหมู่บ้านตั้งมาก่อนเป็นร้อยปีนั้น บริเวณหมู่บ้านย่อมหมดสภาพเป็นป่าอันเหมาะสมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างปลอดภัย หรือยังคงสภาพเดิมแต่อย่างใด จึงต้องกันพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำกินไว้นอกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ

     แต่ในการสำรวจที่เป็นจริงกลับไม่สนใจหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านชาวเขากะเหรี่ยง จึงประกาศทับพื้นที่หมู่บ้านและพื้นที่ทำกิน แล้วพยายามขับไล่ชาวเขาออก

     นอกจากนี้ การที่กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ มาเป็นร้อยปี มีการปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัย ทำไร่ทำสวน แม้ไม่มีหนังสือสำคัญหรือโฉนดสวน ก็เป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยได้มาเป็นที่บ้านหรือที่สวน ตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่42 อันเป็นกฎหมายเก่า

     ที่บ้านที่สวนนี้ต้องมีมานานก่อนประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 พ.ศ. 2475 มีคำที่พิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2500 และ 286/2516 ยืนยันถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายที่ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้

     ดังนั้น เมื่อกะเหรี่ยงอยู่ทำกินมานานเป็นร้อยปีก่อน พ.ศ.2475 ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ บทที่ 42 เป็นการได้กรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 19 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 หรือมาตรา 6 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ที่ให้อำนาจเฉพาะที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วย กฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

ที่มา : https://www.karencenter.com/showdet-know.php?type=a1&id=6
 

เอกสารเพิ่มเติม : ดาวน์โหลด (4 kb)

เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2553 | อ่าน 2322
เขียนโดย เจ้าหน้าที่ดูแลระบบ KARENTHAI.COM